วันจันทร์ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2554

ขอบข่ายของวิชาภูมศาสตร์

เมื่อพิจารณาจากการประมวลความหมายของภูมิศาสตร์ข้างต้นจะเห็นได้ว่า  วิชาภูมิศาสตร์เป็นการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ของสิ่งแวดล้อมต่างๆที่อยู่รอบตัวของมนุษย์และตัวของมนุษย์เอง  การศึกษาดังกล่าวก่อให้เกิดพื้นฐานการแบ่งตามระบบเนื้อหาวิชาในวิชาภูมิศาสตร์ (physical geography) และ ภูมิศาสตร์มนุษย์(human geography)­โดยแต่ละสาขามีเป้าหมายและขอบข่ายในการศึกษาที่แตกต่างกันดังนี้
1. ภูมิศาสตร์กายภาพ  เป็นการศึกษาเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับลักษณะและการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติที่แวดล้อมตัวมนุษย์  เช่น  ลักษณะภูมิประเทศ  ลักษณะภูมิอากาศ  ทรัพยากรธรรมชาติและปรากฏการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นบนโลก เป็นต้น
2. ภูมิศาสตร์มนุษย์  เป็นการศึกษาเรื่องราวที่เกี่ยวกับความเป็นอยู่ของมนุษย์  หรือสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น  เช่น  การประกอบอาชีพ  การตั้งถิ่นฐาน  เป็นต้น
                ซึ่งขอบข่ายทั้งสองของวิชาภูมิศาสตร์ที่กล่าวมา  ยังมีองค์ความรู้สาขาต่างๆ แบ่งออกเป็นสาขาย่อยๆได้อีกหลายมาก ดังนี้
                ตัวอย่างของรายวิชาภูมิศาสตร์ที่จัดตามระบบเนื้อหาวิชา  และความสัมพันธ์กับองค์ความรู้ในสาขาภูมิศาสตร์กายภาพ  ประกอบด้วย
                1. ภูมิศาสตร์ดิน (soil geography) คือ  วิชาที่ศึกษาถึงลักษณะธรรมชาติและการกระจายของดินต่างๆในโลก
                2. ภูมิศาสตร์พืช (phytogeography or plant geography) คือ วิชาที่ศึกษาพืชพรรณในถิ่นต่างๆของโลก  โดยพิจารณาสภาพภูมิศาสตร์ที่เกี่ยวข้องหรือมีผลต่อพืชนั้นๆ
                3. ภูมิศาสตร์สัตว์ (zoogeography) คือ  วิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับสัตว์ใน  ปัจจุบันมีแนวการศึกษาเป็น  2  ทาง  คือ  ทางภูมิภาค  และทางประวัติความเป็นมาของสัตว์ที่อาศัยอยู่ในถิ่นต่างๆของโลก  นักภูมิศาสตร์สาขานี้จำเป็นต้องอาศัยความรู้เกี่ยวกับวิชาสัตววิทยา  ชีววิทยา  และวิชาอื่นๆที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้เป็นรากฐานวิชาภูมิศาสตร์สัตว์
                4. ภูมิศาสตร์แร่ (mineral geography)  คือ  วิชาที่ศึกษาแร่และหินในภูมิภาคต่างๆของโลก
                5. ธรณีวิทยาเบื้องต้น (introduction to geography)  คือ  วิชาที่ศึกษาประวัติและลักษณะโครงสร้างของเปลือกโลก  หินประเภทต่างๆ  ซึ่งประกอบเป็นเปลือกโลก  คุณสมบัติของหิน  และยุคทางธรณีวิทยา
                6. ธรณีวิทยาทั่วไป  (general geography)  คือ วิชาที่ศึกษาถึงธรณีกายภาพ  แร่งธาตุ  หิน  และธรณีโครงสร้าง
                7. ธรณีสัณฐานวิทยา (geomorphology) คือ  วิชาที่ศึกษาโครงสร้างและลักษณะกระบวนการต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลง  และวิวัฒนาการของภูมิลักษณ์  ทฤษฎีที่อธิบายลักษณะการเปลี่ยนแปลงภูมิลักษณ์
                8. อุตุนิยมวิทยา (meterology)  คือ  วิชาที่ศึกษาสภาพลักษณะของบรรยากาศที่สัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของโลก  เช่น  การพยากรณ์อากาศ  ซึ่งมีผลกระทบต่อการคมนาคมขนส่งการเกษตร  และการทหาร
                9. ภูมิอากาศวิทยา (climatology) คือ วิชาที่ศึกษากระบวนการของพลังงานจากดวงอาทิตย์  อุณหภูมิ  ความกดอากาศ  และความชื้น  ลักษณะและการกระจายของภูมิอากาศ  ความรู้เกี่ยวกับแผนที่รายงานอากาศ   การรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับอากาศ  รวมทั้งอิทธิพลของภูมิอากาศที่มีต่อกิจกรรมทางสังคม
                10. อุทกภูมิศาสตร์ (hydrogeography)  คือ  วิชาที่ศึกษาน้ำบนพื้นโลก  การหมุนเวียนและปัญหาที่เกิดขึ้นจากน้ำ  รวมทั้งด้านสมุทรศาสตร์ (oceanography) ที่ศึกษาเกี่ยวกับทะเล  และมหาสมุทรอย่างละเอียด
                11. การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ  (conservation of nutural resources) คือ วิชาที่ศึกษาถึงแหล่งและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ  โดยเน้นถึงผลอันเนื่องมาจากการใช้ทรัพยากรที่ขาดความระมัดระวัง  การศึกษาถึงหลักเกณฑ์และมาตรการต่างๆ ของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติรวมทั้งปัญหาที่เกิดขึ้น
                12. ภูมิศาสตร์ชีวะ (biogeography)  คือ  วิชาที่ศึกษาภาวะสำคัญทางภูมิศาสตร์  พืชและสัตว์  โดยเฉพาะในทางลักษณะหน้าที่  การกระจาย  การจัดตัวเองให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม
                นอกจากนี้ยังมีการศึกษาถึงวิธีการวิเคราะห์ข้อมูลทางภูมิศาสตร์  วิธีการสถิติทางภูมิศาสตร์  และเทคโนโลยีทางภูมิศาสตร์

ตัวอย่างรายวิชาวิชาภูมิศาสตร์ที่จัดตามระบบเนื้อหาวิชาและความสัมพันธ์กับภูมิศาสตร์มนุษย์  ประกอบด้วย
                1. ภูมิศาสตร์การตั้งถิ่นฐาน (settlement geography)  คือ  วิชาที่ศึกษาการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในถิ่นต่างๆ ของโลก  โดยพิจารณาว่าการตั้งถิ่นฐานนั้นเกี่ยวข้องหรือเป็นผลเกี่ยวกับสภาพทางภูมิศาสตร์อย่างไร
                2. ภูมิศาสตร์เมือง (urban geography)  คือ  วิชาที่ศึกษาในเรื่องเกี่ยวกับเมือง  และโครงสร้างของเมือง  ปัญหาพื้นฐานของเมือง  และการแก้ปัญหาของเมือง
                3. ภูมิศาสตร์การเมือง (political geography)  คือ  วิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับเมืองอย่างมีหลักเกณฑ์  โดยพิจารณาสภาพภูมิศาสตร์เกี่ยวกับรัฐ  อำนาจทางการเมือง  และปัจจัยต่างๆ  วัฒนาธรรมเศรษฐกิจที่มีต่อรัฐ  รวมทั้งวิเคราะห์และเหตุการณ์ทางการเมืองของโลกปัจจุบัน
                4. ภูมิศาสตร์ชนบท (rural geography) คือ  วิชาที่ศึกษาถึงสภาพและโครงสร้างชนบท  เศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชากรในชนบท  และการแก้ปัญหาชนบท
                5. ภูมิศาสตร์ประชากร (population geography)  คือ  วิชาที่ศึกษาประชากรของโลก  การกระจาย  ความหนาแน่น  การย้ายถิ่น  การตั้งถิ่นฐาน  ลักษณะของประชากรทางด้านเศรษฐกิจและวัฒนธรรม
                6. ภูมิศาสตร์วัฒนธรรม (cultural geography) คือ  วิชาที่ศึกษาด้านวัฒนธรรมเพื่อนำไปสู่ความเข้าใจเกี่ยวกับรูปแบบ  การดำรงชีวิตของมนุษย์ในเขตต่างๆของโลก  เช่น  การปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม  การใช้ที่ดิน
                7. ภูมิศาสตร์เชิงประวัติ (historical geography) คือ  วิชาที่ศึกษาประวัติการเปลี่ยนแปลงทางภูมิศาสตร์ของดินแดนต่างๆในโลก  เช่น  ที่ตั้ง  ความเป็นอยู่ของประชากร
                8. ภูมิศาสตร์การแพทย์  (medical geography) คือ  วิชาที่ศึกษาถึงการกระจายของโรคภัยต่างๆในโลก  พร้อมทั้งเหตุผลทางภูมิศาสตร์ที่มีอิทธิพลต่อโรคภัยไข้เจ็บนั้นๆ
                9. ภูมิศาสตร์มนุษย์และสิ่งแวดล้อม (geography of man and environment) คือ วิชาที่ศึกษาถึงลักษณะทางภูมิศาสตร์เกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นจากความสัมพันธ์ของมนุษย์และการใช้ทรัพยากร  เน้นการศึกษาภาวการณ์เศรษฐกิจ  สังคมการเมือง  วัฒนธรรม  และภาวะแวดล้อมในสังคม
                10. ภูมิศาสตร์เศรษฐกิจ  (economic geography)  คือ  วิชาที่ศึกษาทรัพยากรและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สำคัญของโลก  โดยวิเคราะห์ปัญหาทางธรรมชาติ  และปัจจัยทางวัฒนธรรมที่มีผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจของดินแดนต่างๆ  ภูมิศาสตร์เศรษฐกิจยังเน้นเรื่องการผลิต  การค้าระหว่างประเทศ  อุตสาหกรรม  การขนส่ง  การเพาะปลูกในภูมิภาคต่างๆ  ปัญหาค่าจ้างแรงงาน  แหล่งทรัพยากรธรรมชาติ  การใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ
                จากตัวอย่างของรายวิชาภูมิศาสตร์  ซึ่งจัดอยู่ในขอบข่ายเบื้องต้นของวิชาภูมิศาสตร์ดังกล่าว  สรุปได้ว่า  ภูมิศาสตร์เป็นศาสตร์ที่กล่าวถึงเรื่องราวของความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับสรรพสิ่งที่สำคัญ 3 ประการ ได้แก่ สิ่งต่างๆ ที่เป็นธรรมชาติ สิ่งต่างๆที่มนุษย์สร้างขึ้น และตัวของมนุษย์เอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ลักษณทางภูมิศาสตร์

ลักษณทางภูมิศาสตร์
ภูมิประเทศ