วันอังคารที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2554

ภูมิศาสตร์กับวิถีชีวิตไทย

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ให้นิยามคำ ภูมิศาสตร์ ไว้ว่าเป็นวิชาที่ศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติกับสังคมที่ปรากฎ ในดินแดนต่างๆ ของโลก แบ่งเป็นหลายแขนงวิชา เช่น ภูมิศาสตร์กายภาพ ภูมิศาสตร์การเกษตร ภูมิศาสตร์การเมืองหรือที่เรียกกันว่าภูมิรัฐศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ประชากรภูมิศาสตร์เศรษฐกิจ 
       จากนิยามนี้เห็นได้ว่า ภูมิศาสตร์เป็นวิชาที่มีเนื้อหากว้างขวางมากเกี่ยวข้องกับพื้นพิภพ ที่ตั้ง ระยะทาง สภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศในที่ต่าง ๆห้วงน้ำ สภาพธรรมชาติ เหล่านี้เกี่ยวข้องกับสิ่งมีชีวิต พืช สัตว์ รวมทั้งมนุษย์และมีอิทธิพลต่อสภาพความเป็นอยู่ วิถีชีวิต และวัฒนธรรม ขนบประเพณีของคนเรา ทั้งหมดนี้ถือเป็น ภูมิศาสตร์ทั้งสิ้น 
       สำหรับคำว่าวิถีชีวิตไทยนั้น ข้าพเจ้าเห็นว่าคือ ความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน เช่น คนต้องรับประทานอาหารต้องมีบ้านเรือนหรือที่อยู่อาศัย มีเครื่องนุ่งห่ม เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย ต้องได้รับการรักษาดูแล และเพื่อให้ได้ความรู้ที่จะดำรงชีวิตก็ต้องเล่าเรียน ต้องทำมาหากินเพื่อหาเลี้ยงชีพ ต้องการเครื่องประเทืองใจ ความรู้สึกนึกคิด เครื่องยึดเหนี่ยว ทางจิตใจ เป็นต้น ความเป็นอยู่ของคนในประเทศไทยมีหลากหลาย ผู้ที่ศึกษาวิเคราะห์ จะต้องมีกรณีศึกษาเป็นพิเศษ ไม่สามารถศึกษาสังคมเพียงแห่งเดียว แล้วกล่าวว่านี่คือ วิถีชีวิตไทย 
คนเราจะมีความเป็นอยู่หรือวิถีชีวิตเช่นไรขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างประกอบกัน 
       ๑. สภาพภูมิศาสตร์หรือธรรมชาติ จะเป็นตัวกำหนดว่าผู้อยู่บริเวณนั้น ๆ จะตั้งถิ่นฐานและตั้งบ้านเรือนอย่างไร ใช้วัสดุอะไรสร้างเรือน เรือนจะหันหน้าไปทิศใด นุ่งห่มเสื้อผ้าอะไร ประกอบอาชีพอย่างไร บริโภคอาหารชนิดใด เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วยล้มตายจะจัดการอย่างไร 
       ๒. วัฒนธรรม เช่น วัฒนธรรมทางการเมือง วัฒนธรรมทางเศรษฐกิจ ประเพณีที่สืบทอดกันมา ฯลฯ รวมทั้งการมีความรู้ทางวิทยาศาสตร์และทางเทคโนโลยีมาช่วยทำให้ มนุษย์สามารถปรับเปลี่ยนดัดแปลงธรรมชาติให้เป็นไปตามที่ตนต้องการ ดังนั้นผู้ที่อยู่ในสภาพภูมิศาสตร์ที่คล้ายคลึงกันก็ไม่จำเป็นจะต้องมีวิถี ชีวิตเหมือนกัน เพราะมีวัฒนธรรมประเพณีที่ถือปฏิบัติสืบทอดกันมาต่างกัน มีเทคโนโลยีที่จะช่วยทำให้ความเป็นอยู่สบายขึ้น สูงต่ำไม่เท่ากัน เทคโนโลยีมีส่วนสร้างความเปลี่ยนแปลง ทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม 
       ๓. การตัดสินใจของบุคคล อาจจะเป็นผู้นำหรือคนในสังคมนั้น ๆ แต่ละบุคคลมีความรู้ สติปัญญา ไหวพริบ ความสามารถ ประสบการณ์ เหตุผลส่วนตัวที่แตกต่างกัน 

       ในการประชุมคราวนี้เราพูดถึงปัจจัยข้อแรกคือ ปัจจัยภูมิศาสตร์ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดเพียงอย่างเดียว ในการศึกษาภูมิศาสตร์ สิ่งที่สำคัญมากคือ การจำลองสภาพ ภูมิศาสตร์และเหตุที่กำหนดความเป็นอยู่ของมนุษย์ลงในแผ่นกระดาษเรียกว่า การทำแผนที่ หรืออาจใช้อุปกรณ์ประมวลความรู้ได้แก่ คอมพิวเตอร์ เก็บรวบรวมข้อมูลทุกๆ ประเภทไว้เป็นระบบสำหรับการสืบค้นนำไปใช้ วิธีการนี้เราเรียกกันว่า ระบบข้อสนเทศทางภูมิศาสตร์ (Geographic Information System – GIS) การใช้ GIS นี้เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาวิถีชีวิตของมนุษย์ในด้านต่าง ๆ อย่างมาก เมื่อเก็บข้อมูลและวิเคราะห์แล้ว เราสามารถใช้ความรู้หรือสารสนเทศนี้ในการพัฒนาท้องที่ หรือช่วยแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้ 
       เมื่อเราเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นทางรถยนต์ รถไฟ หรือเครื่องบิน เราจะมีโอกาสเห็นสภาพภูมิประเทศ เห็นความสูงต่ำของพื้นที่ และเข้าใจได้ว่าภูมิประเทศแต่ละอย่าง ทำให้คนที่อยู่ในที่นั้นมีวิถีชีวิตที่แตกต่างกันอย่างไร สังเกตได้จากกิจกรรมการงานอาชีพที่คนเหล่านั้นกระทำ เช่น ปลูกข้าว ทำไร่ หรือทำสวนยาง อาจเห็นได้ว่าพืชพรรณ ที่ปลูกก็มีความสัมพันธ์กับพืชธรรมชาติเช่นกัน หรือถ้าหากเราไม่ได้เข้าไปเห็นพื้นที่นั้นเอง เราก็ยังศึกษาได้จากอุปกรณ์หลายประเภทเช่น ภาพถ่ายทางอากาศ หรือภาพดาวเทียม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ลักษณทางภูมิศาสตร์

ลักษณทางภูมิศาสตร์
ภูมิประเทศ