ประเทศไทยตั้งอยู่ในแหลมอินโดจีน การที่เรียกว่าแหลมอินโดจีน เพราะถือว่าอยู่ระหว่างประเทศอินเดีย กับประเทศจีน ซึ่งเป็นการถือเอาประเทศใหญ่เป็นจุดอ้าง แต่ถ้าถือเอาสภาพทางภูมิศาสตร์ เป็นจุดอ้างก็น่าจะเรียกว่า อินโด - แปซิฟิค เพราะเป็นแหลมที่แบ่งน่านน้ำออกเป็นมหาสมุทรอินเดีย และมหาสมุทรแปซิฟิค มีพิกัดทางภูมิศาสตร์ ดังนี้
ทิศเหนือ จดเส้นรุ้ง ๒๐ องศา ๒๕ ลิบดา ๓๐ พิลิบดา เหนือ ที่กิ่งอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย
ทิศใต้ จดเส้นรุ้ง ๕ องศา ๓๗ ลิบดา ที่กิ่งอำเภอเบตง จังหวัดยะลา
ทิศตะวันออก จดเส้นแวง ๑๐๕ องศา ๓๗ ลิบดา ๓๐ พิลิบดา ที่อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี
ทิศตะวันตก จดเส้นแวง ๙๗ องศา ๒๒ ลิบดา ตะวันออก ที่อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน
สภาพธรรมชาติในเขตร้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแถบตะวันออก - ใต้ของทวีปเอเซีย มีอุณหภูมิสูง มีทะเลลมและฝนเป็นปัจจัยให้เกิดป่าดง ประกอบไปด้วยพันธุ์ไม้เขตร้อน และสัตว์ป่านานาชนิด ที่มีปริมาณมากกว่าอีกหลายส่วนของโลก นับว่าเป็นย่านอันอุดมสมบูรณ์ด้วยอาหาร และทรัพยากรที่สำคัญแห่งหนึ่งของทวีปเอเซีย
การที่เส้นแวง ๑๐๑ องศา ตะวันออก ซึ่งเป็นเส้นผ่านกลางพื้นที่ประเทศไทย การคิดเวลาของประเทศไทย จึงควรใช้เส้นแวงเส้นนี้เป็นตัวกำหนด แต่เนื่องจากว่าเพื่อให้สะดวกในกิจการรถไฟ ซึ่งเชื่อมต่อไปยังแหลมมลายู ได้มีเวลาตรงกันทั้งไทย และมลายู (มาเลเซีย) ไทยจึงตกลงใช้เส้นแวง ๑๐๕ องศาตะวันออก ซึ่งเป็นเส้นศูนย์เที่ยงทางภูมิศาสตร์ของมลายู และเป็นเส้นศูนย์เที่ยงของอินโดจีนด้วย เป็นเส้นศูนย์เที่ยงของไทยด้วย จึงทำให้เวลาที่แท้จริงของไทยเร็วไป ๑๘ นาทีของที่ควรจะเป็น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น